ความเป็นมา

     มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น มีพันธกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือการให้บริการแก่ชุมชนและท้องถิ่น โดยการน้อมนำหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งสอดคล้องพระราโชบายของรัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษาที่ต้องการสร้างคนไทยมีคุณสมบัติ 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ดีและถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดี และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบายระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองพระราโชบายและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฎ

     การแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาในหลากหลายโครงการนั้นได้ชี้ให้เห็นถึงจำนวนประชากรครัวเรือนยากจน ยังคงสัดส่วนที่สูงภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ นับวันปัญหาความยากจนจะมีลักษณะซับซ้อน มีความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวมากขึ้น การดำเนินงานพัฒนาครัวเรือนผู้ด้อยโอกาสและยากจน ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมสร้างรายได้แต่อย่างเดียว จำเป็นต้องใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ระดับครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวของเกษตรกรในทุกภูมิภาค เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ พร้อมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ สร้างความพร้อมให้กับชุมชนและครัวเรือนยากจน ต้องบูรณาการความรู้ทุกมิติทั้งด้านสังคม เทคนิควิธีการผลิต และการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การป้องกันดูแลรักษาสุขภาพและสวัสดิการชุมชน รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินการพัฒนาด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

     คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีบทบาทสนับสนุน ด้านวิชาการและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยกระบวนการวิจัยและพัฒนาความมั่นคงของประเทศจากฐานรากให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีการจัดทำฐานข้อมูลระดับหมู่บ้านเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์ราชภัฏ เพื่อให้ได้ข้อมูลระดับหมู่บ้านมาใช้ในการวางแผนดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย